บทความ

คาร์โบไฮเดรต ตัวร้าย หรือ พระเอก???

รู้สึกขัดใจมากที่เห็นหลายคนที่พยายามลดไขมัน พยายามเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้ดีขึ้น พยายามออกกำลังกายมากขึ้น
 
แต่... กลัวการกินคาร์โบไฮเดรต กลัวการกินข้าว กลัวการกินแป้ง กลัวการกินผลไม้ เพราะมีความเชื่อฝังหัวว่า กินแป้ง กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ทำให้อ้วน ทำให้อินซูลินหลั่งออกมา ทำให้ร่างกายไม่ใช้ไขมัน ใช้ไขมันไม่เก่ง ทำให้ไม่ผอม โพสต์นี้จะมาไขข้อข้องใจ และชวนมาทำความเข้าใจกับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น โดยหวังว่าคุณจะกลัวการกินแป้งน้อยลง เข้าใจมากขึ้น รูปร่างดีขึ้น และมีความสุขกับการกินมากขึ้นครับ
 
1. การกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไม่ได้ทำให้อ้วนในทันที ร่างกายเราจะย่อยแป้งและน้ำตาลที่เรากินเป็น "กลูโคส" ในคนปกติในเลือดเราจะมีน้ำตาลกลูโคสประมาณ 5 กรัม ส่วนเกินกว่านี้ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อ "อินซูลิน" นำพาน้ำตาลกลูโคสเหล่านี้ ไปเก็บไว้ในรูปแบบของ "ไกลโคเจน" ที่ตับและกล้ามเนื้อ ในคนน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะเก็บไกลโคเจนที่ตับได้ประมาณ 80-100 กรัม และเก็บไกลโคเจนที่กล้ามเนื้อได้ 300-400 กรัม (ถ้ามีมวลกล้ามเนื้อมาก ก็จะเก็บไกลโคเจนได้เพิ่มขึ้น)
 
2. หลังจากอ่านข้อ 1 จบ ยังไม่มีกระบวนการไหนที่เปลี่ยนแป้งเป็นไขมันโดยทันทีเลย เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปกลัวว่ากินคาร์ไฮเดรตแล้วจะเปลี่ยนเป็นไขมันในทันที และในความเป็นจริงการเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันก็ใช้กระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่านั้น เกิดได้ยากกว่าการเปลี่ยนไขมันที่กินเป็นไขมันในร่างกายอีก
 
3. ร่างกายมนุษย์ทำงานผ่านระบบพลังงานแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ๆ คือ Anaerobic (ไม่ใช้ออกซิเจนในการสันดาบพลังงาน) และ Aerobic (ใช้ออกซิเจนในการสันดาบพลังงาน)
คิดง่ายๆ คือ
Anaerobic - เร็ว แรง หนัก เหนื่อยหอบ ลิ้นห้อย พูดลำบาก
Aerobic - ความหนักเบาถึงปานกลาง อาจจะเหนื่อยหอบ แต่ยังสามารถพูดเป็นประโยคสั้นๆได้ หรือกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน นอน นั่ง ทำงาน
 
4. ระบบพลังงานแบบ Anaerobic สันดาบพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ทั้งน้ำตาลในเลือดและไกลโคลเจนที่กล้ามเนื้อ
ไขมันทำงานแทนคาร์โบไฮเดรตในระบบนี้ไม่ได้ ถึงไขมันจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ แต่มันก็ใช้เวลานานเกินไปที่จะให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อและร่างกายในระบบพลังงานนี้
 
5. ระบบพลังงานแบบ Aerobic ที่ความหนักค่อนข้างมาก ร่างกายก็ยังต้องการคาร์โบไอเดรตในการช่วยให้พลังงานแก่ร่างกายอยู่ดี เราเลยจะเห็นนักวิ่งมาราธอนก็ยังกินเจล กินคาร์บเพื่อเติบคาร์บระหว่างวิ่งอยู่ดี
 
6. เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาทั้งเรื่องรูปร่างและสรรถภาพร่างกาย เราจำเป็นต้องกินคาร์โบไฮเดรตด้วย สารอาหารทุกอย่างมันมีหน้าที่ของมัน
 
7. คาร์โบไฮเดรตในรูปแบบของน้ำตาลในเลือดยังเป็นอาหารหลักของสมอง และการทำงานของระบบประสารต่าง ๆ ของร่างกาย จะสังเกตเห็นว่า เมื่อเราอดอาหารนาน ๆ ใช้พลังงานเยอะ น้ำตาลในเลือดจะต่ำ เราจะเบลอ คิดอะไรได้ช้า สั่งการร่างกายได้ช้าลง
 
8. คาร์บไฮเดรตที่เราต้องการในแต่ละวันก็จะแต่ต่างกันขึ้นอยู่กับกิจกรรมและเป้าหมายที่ทำ ตามคำแนะนำสากล
- คนทั่วไปที่ไม่ออกกำลังกายต้องการคาร์โบไฮเดรต 3-5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
- คนที่ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งต้องการคาร์โบไฮเดรต 4-6 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน (ขึ้นอยู่กับความหนัก และเป้าหมาย เช่น ลดไขมัน หรือ เพิ่มกล้ามเนื้อ)
- คนที่ออกกำลังกายแบบคาดิโอต่อเนื่องกัน 1 ชั่วโมงต้องการคาร์โบไฮเดรต 5-6 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
- นักกีฬาหรือคนที่ซ้อมหนักและนาน มีโปรแกรมการออกำลังกายชัดเจน อาจจะต้องการคาร์โบไฮเดรต 6-10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน ขึ้นอยู่กับความหนักและความนานของการฝึกซ้อม
 
9. ถ้าเราออกกำลังกายหนักและนานโดยที่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตในร่างกายไม่เพียงพอ ร่างกายจะใช้โปรตีนที่เรากินหรือสลายจากกล้ามเนื้อมาให้พลังงานแทน ทำให้การฟื้นตัวอาจจะต่ำ ทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ ทำให้ระบบเผาผลาญลดลง สมรรถภาพร่างกายลดลง ความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจะมากขึ้น
 
10. ถ้าเราเข้าใจระบบพลังงานที่ดี เราก็จะเลือกกินคาร์โบไฮเดรตได้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงของการฝึก ควบคู่กับการกินโปรตีนและไขมันได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เรามีพัฒนาที่ดีทั้งทางด้านรูปร่าง สุขภาพ และสรรถภาพของร่างกาย
 
11. ถ้าไปถามคนที่รูปร่างดี สมรรถภาพร่างกายดี มีสุขภาพดี เค้าเหล่านั้นกินคาร์บทุกคน เพียงแต่ว่าจะกินคาร์บรูปแบบไหน ปริมาณเท่าไหร่ แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาแค่นั้นเอง
 
=====================
 
ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตในอาหารโดยประมาณ
 
- ข้าว 100 กรัม มีคาร์โบไฮเดรต 25-30 กรัม
- กล้วยหอม 1 ผล มีคาร์โบไฮเดรต 20-25 กรัม
- ผลไม้ 1 ชิ้นรถเข็น มีคาร์โบไฮเดรต 20-25 กรัม
- ส้ม แอปเปิ้ล 1 ลูก มีคาร์โบไฮเดรต 13-15 กรัม
- ขนมปัง 1 แผ่น มีคาร์โบไฮเดรต 10-20 กรัม
- น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีคาร์โบไฮเดรต 40 กรัม
- น้ำผลไม้ 1 แก้ว มีคาร์โบไฮเดรต 40 กรัม
- น้ำชง ชาไขมุก มีคาร์โบไฮเดรต 50-100 กรัม
- เค้กกล้วยหอม 1 ชิ้น มีคาร์โบไฮเดรต 50 กรัม
 
ลองคำนวณและเลือกกินคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมกับกิจกรรมในแต่ละวัน เราก็จะมีรูปร่างที่ดีขึ้น สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น และมีความสุขกับการกินได้ครับ
 
 
=======================
 
สำหรับใครอยากจะเข้ามาปรึกษาเรื่องการกินและการออกกำลังกาย อยากให้ผมหรือเทรนเนอร์มืออาชีพของ Fit-D Fitness ทั้ง 3 สาขา (สาขาพญาไท สาขารัชดา และสาขาสุขุมวิท39) ช่วย สามารถติดต่อเข้ามาได้เลยครับ หรือสนใจที่จะเทรนออนไลน์ เราก็มีให้บริการครับ
 
“เรารู้ว่าคุณออกกำลังกายเองได้ แต่เรายินดีช่วยให้คุณออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องและเห็นผล”
 
=======================
 
นิว วีระเดช ผเด็จพล
 
MSc. Sport & Exercise Nutrition, Leeds Beckett University, UK
Certified Strength & Conditioning Specialist (NSCA)
Certified Personal Trainer (NSCA)
ผู้ร่วมก่อตั้ง Fit-D Fitness และเว็บไซต์ fit-d.com
Educator at FIT
.
โดย New Fit-D

พี่นิว หนึ่งในเจ้าของฟิตดี, Master Trainer at Fit-D fitness

เมื่อ 05 Mar 2021 | อ่านแล้ว 11,794 ครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

การกินอาหารที่ดีและพลังงานที่เพียงพอจะส่งผลต่อสภาพจิตใจทั้งในชีวิตประจำวัน เรื่องการทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของการออกกำลังกายและรูปร่าง

เมื่อ 08 Mar 2021 | อ่านแล้ว 1,618 ครั้ง

ต้องมองอาหารเป็นภาพรวมทั้งวัน ไม่ใช่มองแค่อาหารเป็นจานๆ ในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสมที่สุดในทุกมื้อ ทานให้พอดี จากหลากหลายแหล่ง

เมื่อ 08 Mar 2021 | อ่านแล้ว 1,453 ครั้ง

โภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญในการเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนร่างกาย และช่วยเติมพลังงานและฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมก่อนการฝึกซ้อมครั้งต่อไป

เมื่อ 04 Nov 2022 | อ่านแล้ว 4,476 ครั้ง