บทความ
ว่าด้วยเรื่องของการนอน
ว่าด้วยเรื่องของการนอน
นอนเท่าไหร่ถึงเรียกว่ามากไป-น้อยไป sleep debts คืออะไร ทำไมเรามักตื่นเวลาเดิมๆ ลองดูคำตอบในบทความวันนี้กันนะคะ
สำหรับคนทั่วๆไป เราต้องการเวลานอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงค่ะ ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ได้ แต่มีกลุ่มคนพิเศษที่เวลานอน 7-9 ชั่วโมง ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสำหรับเขา เรามาดูกันค่ะว่ามีกลุ่มไหนบ้าง
- กลุ่มคนที่ต้องการเวลานอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง
สำหรับคนกลุ่มนี้ เพียงนอนแค่ 5 -6 ชั่วโมง ก็สามารถรู้สึกสดชื่น พลังงานเต็มเปี่ยม ซึ่งการที่คนกลุ่มนี้สามารถนอนน้อยได้เป็นเพราะความสามารถพิเศษด้านพันธุกรรมค่ะ ถ้าเราไม่ได้มีความสามารถพิเศษนี้ แล้วนอนแค่ 5-6 ชั่วโมงสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ
- เราจะรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน เพลียในวันต่อมา
- เราจะรู้สึกปกติ แต่นั่นเป็นเพราะเราชินกับการนอนน้อยไปแล้วค่ะ
การที่เราชิน ไม่ได้หมายความว่า การนอนน้อยจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายนะคะ ถ้าเราไม่ใช่กลุ่มคนที่เป็นลักษณะพิเศษนี้ ไม่ว่าจะรู้สึกแบบข้อ A. หรือ B. เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองเป็นโรคหัวใจ, มะเร็ง และเบาหวานค่ะ
- กลุ่มคนที่ต้องการเวลานอนมากกว่า 9 ชั่วโมง
พันธุกรรมของคนกลุ่มนี้ ทำให้ต้องใช้เวลานอน 10 -12 ชั่วโมง ถึงจะทำให้รู้สึกสดชื่น และจะรู้สึกเหนื่อย รู้สึกเพลีย เร็วกว่าคนทั่วไปค่ะ คนกลุ่มนี้ยังรวมถึงวัยที่ร่างกายต้องการการนอนมากเป็นพิเศษเพราะร่างกายยังคงมีการพัฒนาอยู่ เช่น เด็กๆ, วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้นหลายๆ คนค่ะ
- กลุ่มคนที่ต้องการเวลานอนมากกว่า 13 ชั่วโมง
คนบางคนสามารถนอน 14,17 หรือมากกว่า 24 ชั่วโมง แต่ตื่นมาก็ยังรู้สึกเพลีย ซึ่งปัญหาของคนกลุ่มนี้อาจจะมาจากคุณภาพการนอน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมาจากภาวะหยุดหายใจระหว่างนอน, โรคนอนไม่หลับ, โรคลมบ้าหมู, โรคพาร์กินสัน, โรคซึมเศร้า ซึ่งทำให้เกิดภาวะ hypersomnia หรือภาวะที่ไม่สามารถตื่นได้ หรือภาวะ Narcolepsy ซึ่งเป็นภาวะที่รู้สึกง่วงแทบจะตลอดเวลาซึ่งสามารถนำไปสู่อันตรายได้ เมื่อหลับในสถานการณ์ที่ไม่ควรจะหลับ คนกลุ่มนี้จึงควรต้องได้รับยาที่เหมาะสมค่ะ
ร่างกายของคนเราจะมีจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมของแต่ละคน ถ้าเรานอนน้อย เราจะอยากนอนเพิ่มมากขึ้นในวันถัดมา หรือถ้าเรานอนมากกว่าปกติ เราอาจจะนอนหลับยากในวันต่อมา
ร่างกายของคนเรายังมีสิ่งที่เรียกว่า Sleep debts หรือหนี้การนอนค่ะ Sleep debts จะเกิดขึ้นเมื่อเรานอนน้อยกว่าจำนวนชั่วโมงที่ร่างกายต้องการ การนอนไม่พอนี้เป็นเหมือนการสร้างหนี้ที่ต้องอาศัยการนอนที่มากขึ้นมาในวันต่อมามาชดใช้ค่ะ และถ้าเรานอนไม่พอมากๆ การนอนเพิ่มขึ้นเพื่อใช้หนี้ อาจจะไม่ได้จบในวันเดียว แต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะชำระหนี้หมดค่ะ
นอกจากนี้ร่างกายของคนเรายังมีฟังก์ชั่นพิเศษ เราสามารถตื่นได้เอง เวลาเดิม เเบบไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก ซึ่งเกิดจากการที่สมองหลั่งสารเคมีทางด้านประสาท (Neurochemicals) ที่ทำให้เราพร้อมเริ่มต้นชีวิตประจำวัน แต่การที่เรานอนเกินเวลา เป็นการรบกวนระบบการทำงานนี้ของสมองค่ะ ผลที่เกิดขึ้นคือ เราจะรู้สึกเพลียกว่าปกติค่ะ
ดังนั้นพยายามตื่นเวลาเดิม และเข้านอนเวลาเดิมในทุกวัน ไม่มีวันทำงานตื่นเช้า เสาร์อาทิตย์ตื่นสาย เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสทำงานแบบที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และพยายามทำให้สภาพแวดล้อมของการนอนส่งเสริมให้เรานอนหลับสนิทที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำห้องให้มืดสนิท, อุณหภูมิห้องที่เย็นขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย, หรือการนอนคนเดียวแบบไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีเสียงกรนจากคนข้างๆ ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงที่จะทำให้เราตื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้เรามีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น หลับสนิทมากขึ้นและรู้สึกนอนได้เต็มอิ่ม สดใส มีแรงพร้อมเริ่มวันใหม่ได้อย่างสดชื่นค่ะ
ใครอ่านบทความนี้จบ ขอให้คืนนี้นอนหลับยาวๆ สนิทๆ ตื่นมาสดใสซาบซ่าทุกคนเลยค่ะ :)
Reference : แปลและย่อจากบทความ ‘The surprising science of oversleeping’ By Gina Loveless https://www.precisionnutrition.com/why-do-i-sleep-so-much
วาว วรงค์พร แย้มประเสริฐ
Nutrition - healthy lifestyle coach
PN LV.1
บทความที่เกี่ยวข้อง
มาดูความแตกต่างของแต่ละ stage หรือแต่ละช่วงการนอนกันนะคะ
การนอนจะช่วยให้ทุกอย่างที่ทำอยู่ดียิ่งขึ้นไปอีก มันสำคัญขนาดที่ว่า ถ้าวันไหนคุณนอนน้อย คุณควรทานสารอาหารเยอะขึ้น และคุณควรออกกำลังกายน้อยลง
การนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพสำคัญมาก ๆ ต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะร่างกายของเราจะใช้เวลาในการเสริมสร้าง ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายตอนที่เรานอนหลับนั่นเอง
การพักผ่อนที่เพียงพอ การกินอาหารให้ครบมื้อครบหมู่ การขยับร่างกายให้สม่ำเสมอ
มาเสนอวิธีการที่จะทำให้หุ่นดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น แบบยังไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายเลยค่ะ!