บทความ
Gut Microbiome แบคทีเรียในช่องท้อง
ท้องป่อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย ฯลฯ สารพัดปัญหาช่องท้องที่หลายคนต้องประสบพบเจออยู่เป็นประจำ รู้มั้ยคะว่า สาเหตุอาจมาจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในตัวเรา! และเราแต่ละคนมีปริมาณเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ถึงหลักล้านล้านตัวเลยทีเดียว!!
สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้คือ แบคทีเรีย (และเหล่าญาติของมัน) ที่มีอยู่ในช่องท้อง ทางเดินอาหาร และแทบจะทุกส่วนของร่างกายเรานั่นเองค่ะ แบคทีเรียและเหล่าญาติเหล่านี้มีหลากหลายเผ่าพันธุ์ อยู่รวมกันจนสร้างเป็นชุมชน เป็นระบบนิเวศน์ในร่างกายของเราที่เรียกว่า Microbiome (ไมโครไบอัม) ซึ่ง Microbiome ของแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันไป และในของคนคนเดียวกันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านความหลากหลายทั้งในแง่ของปริมาณและสายพันธุ์ตลอดทุกช่วงวัยของเรา
เมื่อพูดว่า แบคทีเรีย อย่าเพิ่งไปเหมารวมรังเกียจว่ามันคือเชื้อโรคนะคะ ไม่ได้หมายความว่าเรามีแบคทีเรีย แล้วเราจะป่วย เป็นโรค อันที่จริงแล้ว แบคทีเรียมีทั้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และที่เป็นโทษต่อร่างกายค่ะ
และเจ้าแบคทีเรียเหล่านี้ ก็ไม่ได้แค่ส่งผลต่อสุขภาพของช่องท้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมทั้งหมดของเรา ถึงขั้นกับมีคำกล่าวที่ว่าเราสามารถดูว่าใครจะอายุยาว อายุสั้น มีโรคเยอะ โรคน้อย มีคุณภาพชีวิตอย่างไร ได้จากความหลากหลาย และความหนาแน่นของแบคทีเรียในช่องท้อง ถ้าเราสามารถทำให้ในช่องท้องมีแบคทีเรียที่มีความหลากหลายและหนาแน่นราวกับป่าดงดิบได้ เราจะมีสุขภาพที่ดีได้
ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดความหลากหลายของ Microbiome ในช่องท้อง หรือ Gut Microbiome นี้ เริ่มมาตั้งแต่ที่เราปฏิสนธิเลยก็ว่าได้ พันธุกรรมที่ถูกส่งต่อมาจากพ่อและแม่, การคลอดด้วยการผ่าตัดหรือคลอดแบบธรรมชาติ, การให้นมแม่, การรักษาความสะอาดของร่างกาย, การสัมผัสกับเชื้อรา แบคทีเรียต่างๆ, การดื่มเหล้า/สูบบุหรี่, การสัมผัสกับสัตว์/ฟาร์ม/แหล่งธรรมชาติ, ความอ้วน/ผอม, ยาต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแอนตี้ไบโอติก), ความหลากหลายของอาหาร, การทานอาหารที่มีคุณภาพ, การออกกำลังกาย, กิจกรรมในชีวิตประจำวัน, อายุ ไปจนถึงความเครียด สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนมีปริมาณ มีความหลากหลายของแบคทีเรียทั้งที่มีประโยชน์และมีโทษ ในร่างกายที่แตกต่างกัน
แบคทีเรียที่มีประโยชน์ สามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้กับร่างกายของเรา
- ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ
- ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยทำให้เกิด Short chain fatty acids (SCFAs) ที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน, ความอยากอาหารและความเครียด
- ช่วยควบคุมเรื่องการอักเสบของร่างกาย
- สามารถสร้างสารอาหารอย่างวิตามิน B และ วิตามิน K
โดยที่เรานั้นสามารถที่จะเพิ่มความหลากหลายของแบคทีเรียเพื่อให้เราสุขภาพดีขึ้นได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้ค่ะ
- พยายามเคี้ยวอาหารให้ช้าลง ละเอียดขึ้น การเคี้ยวละเอียดจะช่วยให้เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารได้สัมผัสกับพื้นผิวของอาหารได้มากขึ้น ช่วยให้การย่อยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- เพิ่มผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชที่มีการขัดสีน้อย ให้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีไฟเบอร์ ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียทำให้แบคทีเรียมีปริมาณมากขึ้น และมีความหลากหลายมากขึ้น แถมอาหารเหล่านี้ยังช่วยเรื่องการลดการอักเสบ และเพิ่มแอนตี้ออกซิเดนอีกด้วย ใครที่ทานผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆน้อย ทานแต่อาหารที่ผ่านการแปรรูป ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ จะพบว่ามีความหลากหลายของ Microbiome น้อยลง
- กินอาหารเสริมไฟเบอร์ ในกรณีที่ไม่สามารถกินผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยๆได้ เช่น ไม่ชอบรสชาติเลยจริงๆ, ไม่สามารถหาผัก ผลไม้ ธัญพืชกินได้ ถ้าเป็นในกรณีแบบนี้ถึงจะสมควรที่จะทานเสริมค่ะ แต่ถ้าทานได้อยู่แล้ว ปริมาณมากพออยู่แล้ว การทานเสริม ไม่ได้ช่วยอะไรค่ะ
- ในกรณีที่มีการขับถ่ายไม่ปกติ, อุจจาระแข็ง, มีก้อนเล็ก ทั้งๆที่ทานผักแล้ว อาจต้องมีการเพิ่ม ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (soluble fiber) ซึ่งได้มาจาก ถั่วแบบ bean เช่น ถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า ถั่วแขก, ถั่วแบบ lentil (มีลักษณะกลมๆ แบนๆ มีหลายสี), ข้าวโอ๊ต, มันหวาน เป็นต้น
- ถ้ามีการกินยาแอนตี้ไบโอติค (antibiotics) ควรมีการกินแบคทีเรียที่ดีเพิ่มกลับเข้าไปในร่างกาย ในหลายๆครั้ง เราไม่มีทางเลือกนอกจากการกินยา antibiotics เข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรค ไม่เช่นนั้นเราอาจป่วยจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่การทานยา antibiotics นั้นมีข้อเสียคือเป็นการทำลายแบคทีเรียที่ดีไปด้วย ซึ่งทำให้ความหลากหลายของ microbiome น้อยลง โดยปกติแล้ว เราอาจจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ในการฟื้นฟูแบคทีเรียของเราให้กลับมาพอๆกับก่อนทานยา แต่มีงานวิจัยพบว่าแบคทีเรียหลากหลายตัวอาจหายไปและต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนในการฟื้นฟูให้กลับมา การทาน Probiotics (โพรไบโอติกส์) เสริม อาจช่วยได้
- การขยับร่างกาย การเพิ่มความฟิตของระบบหัวใจและปอดให้มากขึ้น สามารถเพิ่มความหลากหลายของแบคทีเรียได้ การออกกำลังกายแบบเบาถึงปานกลาง สามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาท Parasympathetic (พาราซิมพาเตติก) ซึ่งช่วยในเรื่องของระบบย่อย, ช่วยในเรื่องของความผ่อนคลายของร่างกาย ไปจนถึงระบบขับถ่าย
ลองเอา 6 ข้อนี้ไปปรับใช้ดูนะคะ เพราะภาพรวมใหญ่ๆที่เราอยากได้อย่างการมีสุขภาพที่ดี เกิดมาจากจุดเล็กๆที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างแบคทีเรีย มาทำให้ร่างกายของเราอุดมไปด้วยแบคทีเรียที่ดีหลากหลายสายพันธุ์กันนะคะ
วาว วรงค์พร แย้มประเสริฐ
Precision Nutrition Level 1
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย
Reference: https://www.precisionnutrition.com/how-to-improve-gut-health
บทความที่เกี่ยวข้อง
การพักผ่อนที่เพียงพอ การกินอาหารให้ครบมื้อครบหมู่ การขยับร่างกายให้สม่ำเสมอ
งานวิจัยใหม่ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะทำ IF หรือ การกินแบบควบคุมแคลอรี่ สามารถลดน้ำหนัก ลดไขมัน และปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ไม่ต่างกันในระยะยาว
เราต้องดูว่าภาพรวมของอาหารที่กินไปทั้งวันกี่แคลอรี่ และร่างกายใช้ไปกี่แคลอรี่แล้ว
Food Relationship หรือความสัมพันธ์ที่เรามีกับอาหารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมักจะส่งผลต่อการทานอาหารในปัจจุบันและในภายภาคหน้า
ลูกค้าควร “หยุด” ขอตารางการกินจากเทรนเนอร์ เทรนเนอร์ควรหยุดแจกตารางการกินมั่วซั่วจากประสบการณ์ตัวเอง และโค้ชเถื่อนขายอาหารเสริมควรหยุดการใช้อาหารเสริมปรับการกินเพื่อรักษาโรค หรือลดความอ้วนซักที