บทความ
กินเฮลตี้แต่อ้วนขึ้น! เพราะอะไร?
ปรับมาทานอาหารเฮลตี้แต่กลับอ้วนขึ้น! เกิดจากอะไร
หลายๆคนที่อยากลดความอ้วน ได้เริ่มปรับอาหารทานขนมน้อยลง ทานของทอดน้อยลง ทานอาหารเฮลตี้มากขึ้น แต่ทำไมกันนะน้ำหนักไม่ลง แถมบางคนน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก วันนี้เรามาดูสาเหตุกันค่ะ
- อาหารเฮลตี้ ไม่ได้เท่ากับ อาหารแคลอรี่น้อย
สิ่งที่เรารับรู้ว่าเฮลตี้ ดีต่อสุขภาพ เป็นคนละเรื่องกับแคลอรี่นะคะ แน่นอนว่าการที่เราจะสุขภาพดีขึ้นได้ สิ่งที่เราต้องทำคือการได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น แต่สารอาหารที่มีประโยชน์นี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมีแคลอรี่น้อย เพราะมีกลุ่มอาหารที่ทั้งสารอาหารสูงและแคลอรี่สูงอยู่ด้วย ตัวอย่างของอาหารกลุ่มนี้คือ ถั่วต่างๆ, เนยถั่วหรือพีนัทบัตเตอร์, ผลไม้รสหวานจัด, ผลไม้แห้ง, อโวคาโด, น้ำมันมะกอก, แซลมอน, ชีส, นม full fat, น้ำผึ้ง ฯลฯ ดังนั้นการเปลี่ยนจากการกินบราวนี่เป็นมื้อเช้า มาเป็น ขนมปังโฮลวีตปิ้งทาพีนัทบัตเตอร์วางด้วยกล้วยหั่นเป็นแว่นๆราดน้ำผึ้งโรยถั่วด้านบน (สวยงาม เหมาะกับการถ่ายรูปอวดลง IG มาก) แน่นอนสารอาหารวิตามินเกลือแร่จากเมนูที่สองมีมากกว่าอยู่แล้ว แต่ในแง่ของแคลอรี่ อาจจะพอๆกับบราวนี่ หรือเผลอๆ เมนูที่เปลี่ยนอาจจะแคลอรี่สูงกว่าด้วยซ้ำ นอกจากน้ำหนักไม่ลง คุณอาจจะอ้วนขึ้นได้ด้วยนะคะ ดังนั้น ต้องสามารถแยกให้ได้ว่าสิ่งที่จะทานเป็นสารอาหารกลุ่มไหน แคลอรี่สูงหรือไม่ เราทานสารอาหารกลุ่มนั้นในมื้ออื่นๆเยอะอยู่แล้วหรือไม่ เพื่อให้สามารถไปลดในมื้ออื่นได้ค่ะ
- ทานอาหารเฮลตี้มากขึ้น แต่อาหารไม่เฮลตี้ก็ทานอยู่เหมือนเดิม
จากบางคนที่ทานน้อย (ปริมาณอาหารน้อย) แต่ของที่ทานล้วนแต่เป็นของไม่มีประโยชน์ แคลอรี่สูง พอเริ่มที่จะอยากลดไขมัน เลยทานอาหารที่มีสารอาหารสูงมากขึ้น แต่ยังคงทานขนมเหมือนเดิม ทานเครื่องดื่มหวานๆ เหมือนเดิม ในลักษณะแบบนี้ ทำให้แคลอรี่ที่ทานเพิ่มขึ้นไปมากกว่าเดิมอีกค่ะ ดังนั้นถ้าอยากปรับให้เฮลตี้ขึ้นก็ควรลดของที่ไม่ค่อยมีประโยชน์และแคลอรี่สูงด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นมีสิทธิ์อ้วนขึ้นได้ค่ะ
- ทานอาหารเฮลตี้แต่แคลอรี่น้อยเกินไป เลยต้องมีขนม/น้ำหวานแทบทุกวัน
การทานสลัดแทนมื้ออาหารแบบไม่มีโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรต การทานน้อยๆ สุดท้ายยังไงก็ต้องหิว ต้องโหยค่ะตามมาด้วยอาการอยากหวาน อยากทานนู่นนี่นั้นแน่นอน เพราะร่างกายได้รับสารอาหารไม่พอ ดังนั้นการทานอาหารมื้อหลักทั้ง 3 มื้อให้มีสารอาหารเพียงพอถึงสำคัญมาก ทุกมื้อเราต้องเช็คว่า มีโปรตีน 1 ฝ่ามือมั้ย คาร์โบไฮเดรต 1 มือทำรูปถ้วยมั้ย ผักประมาณ 1 กำมือมั้ย (ของผู้ชายคูณ 2 ทุกอย่างค่ะ) ทานแบบนี้ 3 รอบต่อวัน ถ้าออกกำลังมีของว่างเพิ่มมาอีกมื้อ อาจจะเป็นผลไม้กับโยเกิร์ตแบบไม่เติมน้ำตาล เห็นมั้ยคะว่าจริงๆเราทานได้เยอะเลย ไม่จำเป็นว่าต้องทานน้อย ถ้าทานได้แบบนี้ อาการหิวแบบไม่ควรจะหิว หรืออยากหวานจะน้อยลงแน่นอนค่ะ
- ทานอาหารเฮลตี้แต่ทานมากเกินไปเพราะไม่รู้ปริมาณที่ถูกต้อง
เป็นข้อผิดพลาดหลักของคนที่ปรับอาหารเลยค่ะ เช่น รู้ว่าต้องทานโปรตีนเยอะขึ้นแต่กะไม่ถูก เลยทานกะเพราไก่ 200 กรัม เพิ่มไข่ต้ม ทั้งๆที่เป็นผู้หญิง และยังไม่ได้เล่นเวทได้หนักนัก โปรตีนที่ได้จึงเกินกว่าที่ต้องการ ซึ่งการทานโปรตีนมากเกินความจำเป็น สามารถที่จะสะสมเป็นไขมันได้เช่นกันนะคะ
มีใครเป็น 4 ข้อนี้อยู่บ้างคะ ถ้าใครที่อยากลดไขมันลง และสุขภาพดีขึ้น ลองหาจุดสมดุลของการทานสารอาหารที่เยอะขึ้น แต่แคลอรี่ที่รับเข้ามาทั้งหมดยังคงน้อยกว่าแคลอรี่ที่เราใช้ออกไปกันนะคะ ทานดี ออกกำลังกายดี พักผ่อนดี หาจุดสมดุลของสามสิ่งนี้ได้เมื่อไหร่ หุ่นสวยๆ สุขภาพดีๆ มาแน่นอนค่ะ
วาว วรงค์พร แย้มประเสริฐ PN Lv.1
บทความที่เกี่ยวข้อง
เพื่อช่วยให้เราสามารถมีรูปร่างที่ต้องการได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องใส่ใจสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนและการพักผ่อน
กินอะไรก็ท้องอืด! ออกกำลังกายยังไงก็ยังมีพุง! รู้มั้ยว่าบางทีอาจจะดีขึ้นได้แค่เปลี่ยนอาหารที่กิน! | 6 อาการแพ้อาหารที่พบบ่อย
โภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญในการเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนร่างกาย และช่วยเติมพลังงานและฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมก่อนการฝึกซ้อมครั้งต่อไป
ED ในทางการแพทย์แล้วถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เรามักจะได้ยินคำศัพท์ทาง clinical terms ที่จำแนกประเภทของโรคไว้ อย่างเช่น 1. Anorexia Nervosa 2. Bulimia Nervosa 3. Binge Eating
ปริมาณอาหารจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำในวันนั้น โดยที่จะเน้นที่ให้โปรตีนต้องถึงกับที่ร่างกายต้องการ เพิ่มการกินผักให้มาก วันที่ออกกำลังกายอาจจะกินคาร์โบไฮเดรตจากขนมเพิ่มขึ้นบ้างบางครั้ง