บทความ
Goal Setting
เป้าหมายที่ไม่เคยไปถึง เรากำลังพลาดอะไรไปหรือเปล่า?
.
.
มีใครในที่นี้เคยตั้งเป้าหมายแล้วไม่เคยทำสำเร็จได้เลยสักทีไหมคะ? เคยสงสัยมั้ยว่าเราอาจจะพลาดอะไรตรงไหนไปรึเปล่านะ หรือทำยังไงให้เป้าหมายของเรามันสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้สักที มารู้จักกับหลัก SMART Goal กับสิ่งที่เราอาจจะมองข้ามไปในการตั้งเป้าหมายกันค่ะ
ทุกครั้งที่เราตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง แล้วมันไม่สำเร็จ นอกจากมันจะทำให้เราเสียความมั่นใจ เสียกำลังใจแล้ว มันอาจจะทำให้เราไม่อยากทำอะไรใหม่ ๆ และไม่อยากไปต่อ เกิดอาการหมดไฟไปเลยก็ได้ แต่อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้มันฉุดรั้งเราลงค่ะ เราลองมาใช้เวลานี้ ค่อย ๆ พิจารณาดูว่าอะไรที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมาย เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลัก SMART Goal นี้สามารถช่วยเราได้เสมอค่ะ มาดูกันค่ะว่าเราอาจจะพลาดตรงไหนไปบ้าง
- เป้าหมายที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือเกินไป - การที่เราตั้งเป้าหมายกว้าง ๆ อาจจะทำให้เรามองไม่เห็นถึงภาพเล็ก ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพรวมใหญ่ ๆ นั้น ดังนั้นเราจะไม่รู้ว่าเราควรลงมือทำอะไรดี เช่น การที่เราตั้งเป้าหมายว่า อยากมีสุขภาพดีขึ้น มีหุ่นที่ดีขึ้น มันอาจจะกว้างเกินไปค่ะ ลองกำหนดให้มันชัดเจนมากขึ้น เช่น
จากที่ตั้งว่า “อยากจะมีสุขภาพดีขึ้น” ลองปรับเป็น “อยากจะมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการมีคอเรสเตอรอลที่ลดลง”
จากที่ตั้งว่า “อยากจะหุ่นดีขึ้น” ลองปรับเป็น “อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีเปอร์เซ็นต์ไขมันที่ลดลง หรือจากน้ำหนักตัวที่ลดลง”
การชี้ชัดแบบนี้จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ดังนั้น be Specific ชัดเจนไปเลยค่ะ คือ S ตัวแรก ของ SMART Goal ค่ะ
- ไม่มีหลักหรือจำนวนในการวัดเป้าหมาย – การที่เราไม่รู้ว่าเราจะเอาอะไรมาวัดดีว่าเป้าหมายของเราสำเร็จหรือไม่ หรือเราจะถึงเป้าหมายที่ตรงไหน ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่หลาย ๆ คนพบค่ะ ดังนั้นการมีตัวเลข มีจำนวนอะไรบางอย่างมาเป็นเครื่องช่วยวัด ก็จะทำให้เป้าหมายของเรายิ่งชัดเจนมากขึ้น เช่น
“อยากจะมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการมีคอเรสเตอรอลที่ลดลงจาก 130 เหลือ 100”
“อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีไขมันที่ลดลงจาก 35% เหลือ 25%”
“อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวที่ลดลงจาก 80 กิโลกรัม เหลือ 70 กิโลกรัม”
เลือกอะไรที่ Measurable คือสามารถวัดได้ หรือตัว M ใน SMART Goalค่ะ แต่ข้อนี้ในส่วนตัวของแพรเอง แพรรู้สึกว่าบางอย่างอาจจะไม่สามารถใช้ตัวเลขมาวัดได้ เช่น ความสุขกับตัวเองที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงจะ track เป็นตัวเลขไม่ได้ เราก็สามารถใช้วิธีบันทึกได้ค่ะ แล้วคอยเช็คตัวเองว่าช่วงนี้เราเป็นยังไงบ้าง เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ค่ะ
- เป้าหมายที่ทำไม่ได้จริง – บางครั้งคนเราก็ตั้งความคาดหวังกับอะไรไว้สูงเกินไปค่ะ การตั้งความหวังให้สูงไว้เป็นเรื่องที่ดี แต่การตั้งเป้าหมายที่สูงเกินกว่าที่เราจะทำได้จริงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเราทำไม่ได้ เราก็จะผิดหวัง ท้อแท้ และหมดกำลังใจ ดังนั้นลองกลับมาคิดดูใหม่ ว่าสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ มันทำได้จริงหรือเปล่า เช่น
“อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีไขมันที่ลดลงจาก 35% เหลือ 25%”
“อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวที่ลดลงจาก 80 กิโลกรัม เหลือ 70 กิโลกรัม”
แทนที่จะตั้งว่า อยากจะหุ่นดีแบบดารา/นางแบบที่เห็นรูปในเน็ต ซึ่งมีรูปร่างเล็ก ผอม สูงมาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่เราและครอบครัวเรามีหุ่นที่สูงใหญ่
การตั้งเป้าหมายแบบนี้ คือการเลือกเป้าหมายที่สามารถ Attainable หรือตัว A ใน SMART Goal เป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้จริงนั่นเองค่ะ
- เป้าหมายนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับตัวเรา – จะเลือกเป้าหมายอะไรก็ตาม เป้าหมายนั้นต้องเชื่อมโยงกับตัวเรา กับชีวิตเรา มันควรจะต้องมีความหมายกับเรามากพอที่จะทำให้เราลุกขึ้นมาทำตามสิ่งที่เราตั้งใจไว้ในทุก ๆ วันค่ะ ไม่งั้นเราก็จะมานั่งคิดทุกวันว่าแล้วเราจะทำมันไปทำไม? เช่น อยากมีเปอร์เซ็นต์ไขมันน้อยๆ มีกล้ามท้องเหมือนนางแบบ แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าที่เขาจะมีหน้าท้องแบบนั้นได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วถามว่าตัวเราอยากจะไปเป็นนางแบบหรือเปล่า? และการมีกล้ามหน้าท้องแบบนางแบบสำคัญยังไงกับชีวิตเรามั้ย ? มันจะสามารถช่วยในเรื่องของอาชีพ ในความสุขในชีวิตของเราให้ดีมากขึ้นหรือเปล่า? ถ้าตรงนี้มันไม่สัมพันธ์กับชีวิตเรา มันก็จะไม่ได้มีความหมายมากพอให้เรายึดอยู่กับเป้าหมายค่ะ be Relevant! ซึ่งก็คือตัว R ใน SMART Goal ของเราค่ะ ถ้าเราอยากจะได้อะไรมากพอ เราเห็นความสำคัญของมัน เราจะตั้งใจทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้มันมาค่ะ
- เราไม่ได้กำหนดเวลาให้เป้าหมายของเรา – ความจริงก็คือว่า การที่คนเราตั้งเป้าหมายและกำหนดเวลาที่จะทำสิ่งนั้นๆให้สำเร็จ จะมีแนวโน้มในการทำสิ่งนั้นได้มากกว่าการตั้งเป้าหมายที่ไม่กำหนดเวลาค่ะ วงไว้ในปฏิทินเลยว่าเราจะทำให้สำเร็จภายในวันนี้! หรืออีกกี่เดือนก็ว่าไป แล้วคอยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ถึงกำหนดเวลาที่เราวางไว้ เช่น
“อยากจะหุ่นดีขึ้นโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวที่ลดลงจาก 80 กิโลกรัม เหลือ 70 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 4 เดือน”
(การลดน้ำหนักที่เหมาะสมคือ 2-4 กิโลกรัมต่อเดือน ถ้ามีน้ำหนักตัวที่มาก อาจจะลดได้มากกว่านี้อีกนิดหน่อยค่ะ)
แบบนี้คือการตั้ง Time-Bound ตัว T ซึ่งเป็นแนวทางการตั้ง SMART Goal ข้อสุดท้ายของเราค่ะ
ครบทั้ง 5 ข้อ ของ SMART Goal ที่เราอาจจะทำพลาดไปในการตั้งเป้าหมายของเราแล้วค่ะ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่อยากจะสรุปเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายก็คือ หลังจากที่เรามีการตั้งเป้าหมายหลักของเราแล้ว เราต้องตั้งเป้าหมายในเชิงของพฤติกรรม (Behavior Goal) ที่จะช่วยสร้างให้เราทำเป้าหมายหลักได้สำเร็จด้วย อย่างเช่น หากเรามีเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโล เราก็จะต้องมาดูว่า อะไรบ้างที่เราต้องทำ เพื่อให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายนั้น เช่น จะออกกำลังกาย อาทิตย์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที หรือ เพิ่มผักในทุก ๆ มื้อ หรือ ลดอาหารแปรรูป งดกินจุกจิก โดยเราอาจจะเลือกมาเพียงแค่อย่างเดียว หรือสองอย่างก่อน แล้วเราก็ตั้งใจโฟกัสที่เป้าหมายของการปรับพฤติกรรมในแต่ละวันให้สำเร็จ และพยายามทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักที่เราต้องการค่ะ โดยการตั้งเป้าหมายเชิงพฤติกรรมนี้ เราสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เขาแนะนำเราได้ว่าควรต้องทำอย่างไรบ้างให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ชีวิตของคนเราไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรง ระหว่างทางที่เราเดินไปสู่เป้าหมาย เราอาจจะเดินสะดุดบ้าง เจอทางที่ขรุขระบ้าง แต่ถ้าเราโฟกัสที่พฤติกรรมของเราที่ทำด้วยความสม่ำเสมอในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรเข้ามาในวันข้างหน้า เราก็สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ และเอาไปแก้ไขให้ครั้งต่อ ๆ ไปมันดีขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่ต้องท้อ ไม่ต้องผิดหวังกับตัวเอง เพราะชีวิตคนเราไม่มีคำว่าล้มเหลว เรามีแต่การเรียนรู้ และพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่เราต้องใช้ความตั้งใจและความพยายาม ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาด้วยการนอนรออยู่เฉยๆ และไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ มีแต่ความตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นได้ค่ะ
โค้ชแพร - แพร เอมเมอรี่, ACE CPT, ACE Health Coach, PN Lv1, Women Fitness Specialist
โค้ชวาว - วรงค์พร แย้มประเสริฐ, ACE CPT, PN Lv1, Senior Fitness Specialist, Training Pregnant and Post-partum client
บทความที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ เพราะกว่าจะรู้ตัวอีกที เราอาจจะกลายเป็นคนที่ "ไม่เคยมีเวลา"...แล้วเราจะหาเวลาให้ตัวเองยังไงดี?
เพลีย ง่วง เหนื่อย รู้สึกหมดพลังอยู่แทบตลอดเวลา ทำยังไงถึงดีขึ้น
วิธีแก้อาการนอนไม่หลับ 7 ข้อ ถ้าทำได้ นอนดีขึ้นแน่นอน!
การ Work from home (WFH) จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพนักงาน แต่เชื่อหรือไม่ว่า การย้ายที่ทำงานจากที่ออฟฟิศมาเป็นที่บ้าน กลับทำให้อาการออฟฟิศซินโดรมทวีความรุนแรงมากขึ้น
ช่วงอายุ 30 กว่า ๆ จนถึงปัจจุบันเป็นช่วงที่สุขภาพร่างกาย และรูปร่างดีกว่าตอนอายุ 20-30 ปีซะอีก เป็นเพราะอะไร