บทความ
“ยกให้หนัก” หรือ “ยกให้ถูก”
FITD – ความถี่ในการออกกำลังกาย (Frequency), ความหนักในการออกกำลังกาย (Intensity), ประเภทของการออกกำลังกาย (Type) และระยะเวลาในการออกกำลังกาย (Duration) ทั้งหมดนี้เป็นหลักการสำคัญของการออกกำลังกาย แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือท่าทางในการออกกำลังกาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หลักการทั้งหมดข้างต้นครบถ้วนสมบูรณ์
การออกกำลังกายเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะฉะนั้นหากเราเคลื่อนไหวในท่าทางที่ถูกต้องตามหลักการเคลื่อนไหว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีประสิทธิภาพหรือมีการพัฒนาของร่างกายเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวในท่าทางที่ผิดหรือไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือเกิดการถดถอยของร่างกายได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม วันนี้ยังไม่เกิดอาการบาดเจ็บ แต่ก็จะสะสมแล้วไปแสดงอาการในวันข้างหน้า และถ้ายังฝืนออกกำลังกายต่อไปด้วยอาการบาดเจ็บ ก็อาจกลายเป็นการบาดเจ็บเรื้อรังจนสุดท้ายอาการบาดเจ็บส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันของเราได้ในอนาคต
ดังนั้นท่าทางในการออกกำลังกายจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ โดยเราสามารถตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ของท่าทางการออกกำลังกายต่าง ๆ ของเราเองได้ง่าย ๆ ตามขั้นตอนนี้
ขั้นตอนแรก ค้นคว้าหาข้อมูลทั้งจากการสอบถามบุคคลหรือเสิร์จหาบนอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการออกกำลังกายประเภทนั้น ๆ หรือท่าทางนั้น ๆ ว่า "ทำอย่างไร" "มีข้อควรระวังอย่างไร"
ขั้นตอนที่สอง ดูแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ คนที่ให้คำแนะนำคือใคร มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือมีใบรับรองทางด้านการออกกำลังกายหรือไม่ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางด้านการออกกำลังกายจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าหากแหล่งข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ตก็ต้องตรวจสอบว่าอ้างอิงมาจากที่ใด เชื่อถือได้หรือไม่ (จากประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องของการออกกำลังกาย ผู้ที่เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือมีใบรับรองการเป็นเทรนเนอร์มืออาชีพ จะให้คำแนะนำในเรื่องของท่าทางการออกกำลังกายได้ค่อนข้างดี)
ขั้นตอนที่สาม ทดลองปฏิบัติหลังจากเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลนั้นแล้ว หากมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอยู่ด้วยก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะผู้เชี่ยวชาญคงจะคอยปรับท่าทางการออกกำลังกายได้ในทันที แต่ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ด้วย แนะนำให้ลองส่องกระจกหรืออัดคลิปวิดีโอและดูท่าทางของตัวเองในกระจกหรือคลิปวิดีโอนั้น และค่อย ๆ ปรับท่าทางการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขั้นตอนที่สี่ หากยังเกิดข้อสงสัยหรือไม่รู้จะหาข้อมูลจากแหล่งไหน สอบถามมาทางเวปไซต์นี้หรือแฟนเพจ Facebook : Fit-D ได้เลยครับ (ทีมงานฟิตดีเรียนจบมาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและมีใบรับรองการเป็นเทรนเนอร์มืออาชีพ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ทางด้านสุขภาพและการออกกำลังกายมามากกว่า 10 ปี)
และสุดท้าย "ยกให้หนัก” ไม่ได้แปลว่าจะดีที่สุดนะครับ “ยกให้ถูก” และค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักขึ้นไปปลอดภัยและให้ผลลัพธ์ดีกว่าอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่าจะมีเวลาจำกัดแต่เราจะไม่งดการออกกำลังกายไปเลย แต่เราจะทำให้การออกกำลังกายของเรามีประสิทธิภาพที่สุดในเวลาที่เรามี
นักวิ่งต้องยกน้ำหนัก หนักขนาดไหน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความแข็งแรง และเป้าหมายในการวิ่งของเรา
การกระโดดเชือกจะใช้กล้ามเนื้อเกือบทั้งร่างกาย ทั้งหัวไหล่ กล้ามเนื้อท้อง ข้อมือ โดยจะเน้นไปที่ช่วงล่างและข้อเท้า
ควรคำนึงถึงคือการยืดเหยียดและการนวดกดเฉพาะจุดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัวอย่างเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดการบาดเจ็บได้
นักวิ่งที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไป ก็ไม่ควรละเลยการออกกำลังกายอีก 2 ประเภทเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงที่จะทำให้วิ่งได้ดีขึ้นและลดปัจจัยเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้