บทความ
ชาเขียวที่เขาว่าดี จริงๆแล้วไม่ได้เหมาะกับทุกคน!
ชาเขียว ที่เขาว่าดี จริงๆ แล้วไม่ได้เหมาะกับทุกคน!
ขึ้นหัวข้อวันนี้มาก็น่าตกใจแล้วใช่มั้ยคะ เพราะในหลายๆปีที่ผ่านมา เราคงได้ยินว่าชาเขียวดีต่อสุขภาพ เป็นเครื่องดื่มสายเฮลตี้ ไม่ใช่แค่ในไทยนะคะ แต่กระแสเครื่องดื่มสุขภาพจากญี่ปุ่นนี้ไปไกลถึงฝั่งตะวันตก มีงานวิจัยออกมามากมายที่รับรองว่าชาเขียวช่วยในเรื่องของการลดอักเสบ, ป้องกันโรคมะเร็ง และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
ประโยชน์เหล่านี้เกิดขึ้นที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของเรา ทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้จริงๆ แต่ สำหรับบางคนเท่านั้นนะคะ เพราะในบางคนนั้น ชาเขียวกลับทำให้สุขภาพแย่ลง จนถึงขั้นเป็นอันตรายได้ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่าเป็นเพราะอะไร
ในร่างกายของเรานั้นจะมีระบบภูมิคุ้มกันอันประกอบด้วยเม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ต่อสู้ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคข้างนอกเข้ามาทำอันตราย เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของเราแบ่งเป็นหลายประเภท แต่ประเภทที่จะเล่าให้ฟังวันนี้คือ ประเภทที่มีชื่อว่า ลิมโฟไซด์ (Lymphocyde) ค่ะ เจ้า Lymphocyde นี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ T cell และ B cell ค่ะ
T Cell และ B Cell มีหน้าที่อะไรบ้าง?
T cell มีหน้าที่ ต่อสู้โดยตรงกับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามา, ทำลายเซลล์ในร่างกายที่แพ้ไปแล้ว (ถูกไวรัสชนะไปแล้ว) หรือเป็นมะเร็งไปแล้ว และช่วยผลิตสารกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในส่วนอื่นๆ
B cell มีหน้าที่ ผลิตสารแอนติบอดี้ คอยต่อสู้แบคทีเรีย ไวรัส สารพิษ ที่เข้ามาในร่างกาย
สิ่งที่ T cell ทำ เราเรียกว่า Th1 response
สิ่งที่ B cell ทำ เราเรียกว่า Th2 response
ในร่างกายคนสุขภาพปกติทั่วไป ระบบภูมิคุ้มกันจะมี Th1 และ Th2 นี้ อยู่ในระดับที่สมดุลกันค่ะ เป็นเพื่อนกันทำงานคู่กัน มีความขยันพอๆกัน แต่ ในกลุ่มคนที่มีโรค Autoimmune disease (โรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง) จะมีความไม่สมดุลของ Th1 และ Th2 ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่ Th1 ขยันทำงานมากกว่า ในขณะที่ Th2 ขี้เกียจ ทำงานน้อยกว่า หรือในลักษณะกลับกัน Th1 ขี้เกียจเลยทำงานน้อยกว่า ปล่อยให้ Th2 ขยันทำงานมากกว่าอยู่ฝ่ายเดียว
ยิ่งคู่หู Th1 และ Th2 ทำงานต่างกันมากเท่าไหร่ ระบบภูมิคุ้มกันก็ยิ่งทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายรุนแรงมากเท่านั้น!
ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ยิ่งทำให้Th1 หรือ Th2 ขยันทำงานมากขึ้น จากที่ขยันอยู่แล้ว ก็บ้างาน มุทะลุทำงานเกินหน้าเกินตาเพื่อนไปอีกคือ อาหารค่ะ และมักจะเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เราคุ้นเคยที่เกริ่นไว้ตอนต้น ชาเขียวนั่นเองค่ะ
ชาเขียว จะไปยับยั้งการทำงานของ Th1 และกระตุ้นการทำงานของ Th2
คนที่มี Th2 ทำงานเกินหน้าเกินตาอยู่แล้ว ถ้าทานชาเขียวเข้าไปอีก ก็ยิ่งไปทำให้ Th2 ขยันทำงานไปอีกกกก ดังนั้น ใครที่ Th2 ทำงานเกินปกติอยู่แล้ว ควรอยู่ห่างไกลชาเขียวไว้ค่ะ ยิ่งทาน ระบบภูมิต้านทานก็ยิ่งทำลายเนื้อเยื่อร่างกายมากขึ้น
ในทางกลับกัน ใครที่ Th1 ทำงานเยอะผิดปกติ การกินชาเขียวจะยิ่งได้ประโยชน์ เพราะชาเขียวจะไปยับยั้งการทำงาน Th1 ให้ทำงานน้อยลงค่ะ
ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ?
ผู้ที่มีการทำงานของ Th1 มากกว่าปกติ “มีความเป็นไปได้” (ย้ำว่า ไม่ใช่ 100% นะคะ) ที่จะเป็นผู้ที่มีโรคเหล่านี้ และ ชาเขียว “อาจจะ” เป็นประโยชน์คือ โรคเส้นเลือดตีบ, โรคทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรัง (IBD หรือ Inflammatory bowel disease) และ โรคโครห์น (Crohn's Disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้, เบาหวานประเภทที่ 1, โรคฮาชิโมโต, โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ, โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์, โรคสะเก็ดเงิน, โรคแผลในกระเพราะอาหารที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ “น่าจะได้รับโทษ” จากชาเขียว คือ ผู้ที่มีการทำงานของ Th2 มากกว่าปกติ การทานชาเขียวเข้าไป จะยิ่งไปยับยั้งการทำงานของ Th1 ทำให้เสียสมดุลยิ่งขึ้น ผู้ที่มี “ความเป็นไปได้” คือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้, หอบหืด, โรคมะเร็งบางประเภท, ไวรัสตับอักเสบ B และ C, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง, โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส, โรค SLE (ลูปัส), โรคหนอนพยาธิ เป็นต้น
ดังนั้น ใครที่มีปัญหาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disease), โรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์ หรือโรคอื่นๆข้างต้น ชาเขียว สามารถเป็นได้ทั้งยาวิเศษและยาพิษ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญขอตรวจ lymphocyte ว่า Th1 Th2 ของเราเป็นอย่างไร และควรระวังอาหาร/เครื่องดื่มประเภทไหนบ้างนะคะ
แต่ถ้าเพื่อนๆ มีสุขภาพทั่วไปปกติ สบายใจหายห่วงได้ค่ะ ชาเขียวถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากๆ ประเภทหนึ่ง ลองเพิ่มการทานชาเขียวดูนะคะ
ที่สำคัญคือ ร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่ออาหารประเภทต่างๆ จึงไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นอาหารที่เขาว่ากันว่าดีต่อสุขภาพก็ตาม แต่เราอาจตอบสนองไม่เหมือนคนอื่น ดังนั้น ลองสังเกตตัวเอง ถ้าทานอะไรแล้วรู้สึกผิดปกติ รู้สึกไม่ดี ก็ควรเลี่ยงอาหารประเภทนั้นค่ะ
ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ได้ทานของที่ตัวเองชอบ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หา happy & healthy lifestyle ในแบบของตัวเองเจอนะคะ และแน่นอน Fit-D จะอยู่เป็นเพื่อนคุณไปตลอดทางค่ะ
วาว วรงค์พร แย้มประเสริฐ
Health and Nutrition coach (Precision Nutrition Level 1)
Reference :
https://www.precisionnutrition.com/rr-green-tea-hazards
https://www.genome.gov/genetics-glossary/Lymphocyte
http://clmjournal.org/_fileupload/journal/168-1-2.pdf
บทความที่เกี่ยวข้อง
กินอะไรก็ท้องอืด! ออกกำลังกายยังไงก็ยังมีพุง! รู้มั้ยว่าบางทีอาจจะดีขึ้นได้แค่เปลี่ยนอาหารที่กิน! | 6 อาการแพ้อาหารที่พบบ่อย
โภชนาการที่ดีมีส่วนสำคัญในการเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนร่างกาย และช่วยเติมพลังงานและฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมก่อนการฝึกซ้อมครั้งต่อไป
ปรับอาหารทานขนมน้อยลง ทานของทอดน้อยลง ทานอาหารเฮลตี้มากขึ้น แต่ทำไมกันนะน้ำหนักไม่ลง
การกินอาหารที่ดีและพลังงานที่เพียงพอจะส่งผลต่อสภาพจิตใจทั้งในชีวิตประจำวัน เรื่องการทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของการออกกำลังกายและรูปร่าง
คำนวณและเลือกกินคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมกับกิจกรรมในแต่ละวัน เราก็จะมีรูปร่างที่ดีขึ้น สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น และมีความสุขกับการกินได้