บทความ

Body Clock

ร่างกายของคนเราทุกๆคนมีนาฬิการาคาแพง แบบส่วนตัว เป็นของตัวเราเองค่ะ มันคือนาฬิกาของวงจรการทำงานต่างๆ ของระบบภายในร่างกายของเรา ในทุกๆอวัยวะ ในทุกๆส่วนของร่างกาย จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเมื่อนาฬิกาของร่างกายเรานี้ทำงานสัมพันธ์กัน และนาฬิกาทางชีวภาพหลักๆของร่างกายเรานั้นมีสองชนิดค่ะ คือ Circadian Clocks (  รากศัพท์มาจากภาษาละตินสองคำที่รวมกันจาก Circa=Around, diēm =Day ) ซึ่งมันคือวงจรของระบบการทำงานต่างๆของร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง และ sleep-wake cycle ซึ่งถูกกระตุ้นการทำงานด้วยความสว่าง และความมืด ตอบสนองต่อระบบ Circadian อีกที รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆเช่นการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์ของร่างกายด้วย

 

เราทุกคนมีนาฬิกากลางอยู่ในสมอง ที่คอยควบคุมและกระจายงานไปยังเซลล์ของอวัยวะส่วนต่างๆ มีชื่อว่า Suprachiasmatic Nucleus (SCN) ซึ่งตั้งอยู่ในสมองส่วน Hypothalamus ที่เป็นตัวกลางในการสั่งการไปยังเซลล์ส่วนต่างๆของร่างกาย ให้อวัยวะต่างๆทำงานสัมพันธ์กัน (เป็นหัวหน้างานว่างั้นเถอะ) ในขณะเดียวกัน แต่ละอวัยวะของเราก็มีนาฬิกาย่อยๆเป็นของตัวเองอีกที (ซับซ้อนเหลือเกิ๊น) อย่างที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า “เวลาของปอด” “เวลาของตับ” “เวลาของหัวใจ” (ใช่ค่ะ มันมีอยู่จริง)

 

นาฬิกาในร่างกายของเรานี้ช่วยจัดระเบียบการทำงานทางชีวภาพของเราในเรื่องอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

-          อุณหภูมิในร่างกาย

-          ความอิ่มและความหิว

-          อัตราการเต้นของหัวใจ

-          อารมณ์และความรู้สึก

-          การย่อยและการดูดซึมอาหาร

-          พลังงานและความตื่นตัว

-          การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ

-          การเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย

-          ระบบภูมิคุ้มกันและการซ่อมแซมส่วนต่างๆ

 

 

ในรอบช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงของ Circadian Clock ระบบต่างๆของร่างกายเรานี้จะมีช่วงที่ทำงานเพิ่มขึ้น และทำงานลดลงตามจังหวะของนาฬิกาในตัวเรา ซึ่งระบบในร่างกายของเราถูกสร้างมาให้ทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อมีแสงสว่าง และลดการทำงานลงเมื่อนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางคืน ดังนั้น พูดให้เข้าใจกันง่ายๆก็คือทุกระบบของร่างกายเราจะทำงานสัมพันธ์กันกับความมืดและความสว่าง ถ้าเรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับนาฬิกาของร่างกาย ก็จะทำให้ระบบต่างๆทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราฝืนนาฬิกาของร่างกายบ่อยๆ ด้วยการอดนอน การพักผ่อนที่ไม่ค่อยดีนัก การกินอาหารในเวลากลางคืน(แทนที่จะเป็นเวลานอน) ก็จะยิ่งทำให้ระบบเหล่านี้รวน และส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายๆด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นการพักผ่อนที่ดี และการเลี่ยงอาหารมื้อดึก อาจจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าที่เราคาดคิดค่ะ มาดูแลนาฬิกาของร่างกายเราให้อยู่กับเราไปนานๆกันเถอะค่ะ เพราะเรามีกันแค่เรือนเดียว ที่ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหน ก็หาซื้อใหม่มาทดแทนไม่ได้เลยค่ะ

โดย แพร แอมเมอรี่

ACE Certified PT, ACE Certified Health Coach, PN Level 1 certified

เมื่อ 14 Jul 2020 | อ่านแล้ว 4,588 ครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ เพราะกว่าจะรู้ตัวอีกที เราอาจจะกลายเป็นคนที่ "ไม่เคยมีเวลา"...แล้วเราจะหาเวลาให้ตัวเองยังไงดี?

เมื่อ 30 Jun 2020 | อ่านแล้ว 2,144 ครั้ง